*การฉีดยาทำให้เด็กเจ็บ จึงทำให้การพาลูกไปหาหมอเป็นเรื่องยากลำบาก แม้ในวันที่ลูกป่วยด้วยอาการอื่นๆ ลูกก็เกิดความกลัวตั้งแต่เดินเข้าโรงพยาบาลได้
*หมอสร้างภาพแสนสวยและน่าสนุกของโรงพยาบาล เข้ามาแทนที่ภาพที่น่ากลัว โดยให้คุณพยาบาลและคุณหมอแต่งตัวเหมือนนางฟ้า และฮีโร่ ให้คุณหมอมีท่าทางใจดีและสื่อสารกับเด็กแบบง่ายๆ
นอกจากนี้หมอยังใช้ “สร้อยข้อมือวิเศษ” เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นใจที่แม่มีให้ลูก เป็น “แรงยึดเหนี่ยวทางจิตใจ” เมื่อลูกต้องเผชิญกับความจริงที่หลีกไม่พ้น (การฉีดยา)
(ไม่แนะนำให้โกหกลูกว่า ไม่ได้ฉีดยา เพราะลูกจะ “ไม่ไว้ใจเรา” ครั้งต่อๆไป ลูกจะระแวงกับการไปโรงพยาบาล และเราจะปลอบลูกไม่ได้เลย)
*ในชีวิตจริงของคนเรา แม้แต่ผู้ใหญ่เอง หลายๆครั้งเราก็ยังต้องการที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เช่น ขอพรจากพระ โดยเฉพาะวันที่เรารู้สึกว่าควบคุมอะไรไม่ได้ เด็กๆก็ไม่ต่างกันค่ะ แต่สำหรับเด็ก แรงยึดเหนี่ยวที่สำคัญควรเป็น “แรงใจ” จากคุณแม่
--------------------------------------
2. “รันชอบฟันสะอาด”
*การใช้ภาพการ์ตูนสื่อให้เด็กเห็นพัฒนาการของฟันที่ผุจากน้อยไปมาก ช่วยลดความน่ากลัวของภาพฟันผุจริงลงได้ เพราะเด็กที่มีมุมมองด้านลบเกี่ยวกับฟันและการหาหมอฟัน จะยิ่งทำให้พ่อแม่คุยเรื่องนี้กับลูกยากขึ้น
*คุณพ่อชวนให้รันคิดภาพตามว่า เราควรจัดการแมงกินฟันก่อนที่มันจะสร้างบ้านใหญ่ในฟันเรา
*ผู้ปกครองควรกระตุ้นให้ลูกมีอารมณ์ร่วม อยากเอาชนะเจ้าแมงกินฟัน ด้วยการให้ความมั่นใจกับลูก “แมงกินฟันไม่มีอะไรน่ากลัวเลย ลูกจัดการมันได้อยู่แล้วแค่ใช้อาวุธ 2 อย่าง นั่นคือ แปรงสีฟันกับยาสีฟัน”
หรือ “เราตัวใหญ่กว่ามันเยอะเลย มันทำอะไรฟันเราไม่ได้หรอก แค่เราใช้แปรงกวาดมัน มันก็เสร็จเราแล้ว” หรือ “เห็นมั๊ย มันไหลลงท่อน้ำไปหมดแล้ว เราชนะเจ้าแมงกินฟันแล้ว ลูกไม่มีฟันผุแล้ว เย้ๆ”
*เด็กจะรู้สึกดีกว่าและมั่นใจมากกว่า หากเขารู้ว่า เขาสามารถจัดการมันได้ แตกต่างจากเด็กที่ต้องแปรงฟันเพราะรู้สึกกลัว และไม่มั่นใจ เพราะความรู้สึก “ฉันจัดการได้ ฉันควบคุมได้” ช่วยพัฒนาทักษะต่างๆอีกมากมายในชีวิตจริงๆของเขา
-------------------------------------
3. “รันรักน้องจัง”
*พี่น้องทะเลาะกันเป็นปัญหาของทุกๆบ้าน พ่อแม่ไม่ควรทำหน้าที่เป็นเพียงกรรมการตัดสินผิด-ถูก โดยช่วยเหลือคนถูก-ลงโทษคนผิดเท่านั้น พ่อแม่ควรสร้างสถานการณ์ที่ทำให้พี่น้องได้ช่วยเหลือกัน เอื้ออาทรต่อกัน และหมั่นชื่นชมช่วงเวลาดีๆแบบนี้บ่อยๆต่างหาก
*ฉากประทับใจที่ลูกๆเห็นพ่อแม่แสดงความชื่นมื่นต่อความรักของพวกเขา จะช่วยต่อยอดและพัฒนาความผูกพันในสายเลือดให้เข้มข้นต่อไป
*พ่อแม่สามารถสื่อให้ลูกเห็นว่า ความเป็นพี่ที่ดี/น่าเคารพนั้นน่าภูมิใจขนาดไหน เช่น
-“แม่ชื่นชมที่พี่รันสอนน้องเก็บของ ดีกว่าดุ ตอนน้องรื้อของ”
-“แม่คิดว่า พี่รันรู้แล้วล่ะว่า สอนน้องเล่น และเล่นด้วยกันได้เนี่ย ดีกว่าโกรธกัน”
-“ลูกหินก็คงไม่อยากให้หูกระทะแตก.. พี่รันสอนเล่นก็ดีแล้วล่ะ ลูกหินจะได้เล่นเป็น”
-“น้องเล็กๆก็มักวุ่นวายแบบนี้แหละ ตอนพี่รันช่วยสอน น้องวุ่นวายลดลงเลย เห็นมั๊ยคะ”
*หากลูกชื่นชมรันตามที่เราชี้นำ ลูกก็ย่อมอยากเป็นพี่ที่ดีเหมือนรัน (ในช่วงที่รันทำสิ่งดีๆ) ดังนั้นพ่อแม่ควรตีแผ่พฤติกรรมดีๆของพี่รันให้มากกว่าช่วงที่ไม่ดี เพื่อดึงสมองลูกให้จดจำฉากดีๆเหล่านี้ไว้
--------------------------------------
4. “รันชอบแพ้หรือชนะ”
*คำว่า “ผู้ชนะ” ตอบสนองความรู้สึกหลายๆอย่างให้กับเด็ก เช่น ภาคภูมิใจ มั่นใจ โดดเด่น เป็นคนสำคัญ ฯ
มนุษย์ทุกคนก็ปรารถนาความรู้สึกเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริง เราสามารถสร้าง “ตัวตน” ได้ด้วยวิธีอื่นๆมากมาย และดีกว่า วิธีการเอาชนะที่ต้องมีผู้แพ้ด้วยซ้ำ
*การแข่งขันในวัยเด็ก เช่น วิ่งแข่ง เป่ายิ้งฉุบ เกมกระดานฯ ควรมีขึ้นเพื่อความสนุกสนาน เป็นแค่กิจกรรมอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้ลูกมีอะไรทำกับเพื่อนมากขึ้น
และความสนุกจะไม่เกิดขึ้นเลย หากลูกหมกหมุ่นแต่ตนเอง ดังเช่น รันที่คิดแต่เอาชนะ ทำให้พลาดโอกาสเล่นกับกระรอก เก็บมะม่วงและดื่มด่ำไปกับธรรมชาติเหมือนเพื่อนๆ
“ผู้ชนะที่แท้จริง” คือ ผู้ที่ใส่ใจผู้แพ้ แม้ลูกจะดีใจมากแค่ไหนก็ตาม แต่ลูกก็ต้องระวังความรู้สึกของผู้แพ้
เหมือนเช่นพี่ริน ที่แบ่งปันขนมเค้กให้น้อง เพราะรู้ว่าคงช่วยรักษาความรู้สึกพ่ายแพ้ของน้องได้
*“แพ้ให้เป็น” คือ การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ
ทันทั่นและมิ้น เป็นเด็ก “แพ้เป็น” เพราะยอมรับสภาพว่าวิ่งช้า และชื่นชมคนที่วิ่งเร็วกว่าได้
*ระลึกไว้ว่า การแข่งขัน ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อ ให้ใครรู้สึกเหนือใคร หรือให้ใครรู้สึกด้อยกว่าใคร
--------------------------------------
5.“รันชอบเข้านอน”
*เด็กๆมักไม่อยากเข้านอน แม้จะง่วงมากแค่ไหนก็ตาม
เมื่อรันไม่อยากนอน ก้อนเมฆจึงพารันท่องเที่ยวเพื่อหาคำตอบว่า ความมืดดีอย่างไร และเมื่อก้อนเมฆลอยผ่านหน้าต่างบ้านอื่นๆ เด็กที่ไม่ยอมเข้านอน พ่อแม่เขาทำกันอย่างไร?
พ่อแม่ที่เหนื่อยเกินไป มักดุลูกเพราะเป็นห่วงว่าลูกจะนอนไม่พอ แล้วพวกเขาจะช่วยลูกจัดการความกลัว/ความไม่อยากนอนได้อย่างไรกัน?
*พ่อแม่ควรแสดงความรักที่มั่นคงก่อนนอนทุกคืน เช่น การจุ๊บที่หน้าผาก และกล่าว “ราตรีสวัสดิ์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ที่จะทำให้ลูกนอนหลับอย่างมีความสุขตลอดคืน
--------------------------------------
เป็นนิทาน 2 ภาษา ไทยและอังกฤษ
เนื้อหายาวแต่ไม่ซับซ้อน (40 หน้า/เล่ม)
แนะนำสำหรับเด็กอายุ 1 ปีครึ่งขึ้นไปค่ะ