(2 ภาษา) โดยคุณหมอเสาวภา
1.) ทันทั่นขี้โมโห
:
โมโห เป็นอารมณ์ที่ทุกคนมีกันได้ นอกจากพ่อแม่ต้องพยายามควบคุมอารมณ์เพื่อเป็นต้นแบบแล้ว ยังต้องช่วยลูกฝึกควบคุมอารมณ์ตนเอง เช่น การนับเลขพร้อมๆกับการสูดลมหายใจเข้า-ออกช้าๆ หากลูกไม่สามารทำด้วยตนเอง เราก็ต้องทำไปกับลูก และหากเมื่อไรลูกเป็น “เด็กขี้โมโห” เราก็ต้องจริงจังช่วยลูกจัดการทั้งกับอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์นั้น...
หมอสร้างฉากที่ทำให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า ทันทั่นเคยชินกับความรุนแรงได้อย่างไร จนทันทั่นเกือบทำร้ายคนอื่น รวมทั้งลูกหมาตัวน้อยก็เกือบโดนด้วย เมื่อคุณพ่อเข้ามาเห็น คุณพ่อห้ามทันทั่นได้ทันการ คุณพ่อจัดการอย่างไรกับทันทั่นที่อารมณ์กำลังเดือดพล่าน? ส่วนคุณแม่ก็มีกลยุทธที่จะช่วยให้ทันทั่นหลีกเลี่ยงความเคยชินในเรื่องรุนแรง รวมทั้งยังช่วยฝึกทันทั่นให้รู้เท่าทันอารมณ์ก่อนที่มันจะระเบิดออกมา คุณแม่ใช้วิธีการอะไร?
2.) ทันทั่นกินยาก
:
การแก้ปัญหาเด็กทานยาก มีความซับซ้อนมากกว่าแค่เปลี่ยนเมนูอาหารหรือกำหนดเวลาให้ 20-30 นาทีแล้วก็เก็บจาน สิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองควรระลึกไว้เสมอคือ เราต้องฝึกให้เด็กตระหนักว่า การทานข้าวคือหน้าที่ของตนเอง ส่วนเรามีหน้าที่ สร้างบรรยากาศที่ไม่กดดันและเคร่งเครียด...
หมอสร้างฉากการแก้ปัญหาไปทีละขั้นตอน ตั้งแต่การฝึกทันทั่นให้ใช้ช้อนตักอาหารเอง (ไม่ต้องให้ยายป้อน) ตามด้วยการสร้างบรรยากาศการกินที่ดี (ไม่มีการ์ตูนมาล่อ) ต่อด้วยการกระตุ้นให้ทันทั่นกินอาหารหลากหลาย ครบ 5 หมู่ (ไม่เลือกกินแต่ข้าว) รวมทั้งต้องกินให้เพียงพอ...ติดตามดูนะคะว่า อาหาร 5หมู่ เหมือนเหล่าฮีโร่รวมพลังจะเป็นอย่างไร?
3.) ทันทั่นอยากมีเพื่อน
:
เด็กเกเรมักได้รับความสนใจเชิงบวกน้อย นั่นคือถูกชมน้อยกว่าถูกดุ ผู้ใหญ่รอบตัวก็มักถอดใจกับพฤติกรรมของเด็ก แต่คุณครูในเรื่องนี้ ไม่เคยถอดใจกับทันทั่น ครูรู้ว่า พลังใจและความเชื่อมั่นจะสามารถดึงทันทั่นให้ลุกขึ้นมาทำดีได้ และวิธีการลงโทษนั้นต้องใช้เชิงบวกมากกว่าเชิงลบ เพื่อกู้ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองให้กลับคืนมา...
หมอเชื่อมั่นว่า ใครๆก็อยากมีเพื่อน ไม่มีใครอยากแปลกแยกเข้ากับคนอื่นไม่ได้ แต่เด็กที่ทำตัวให้แตกต่าง จนคนอื่นเบื่อหน่าย ลึกๆเขาต้องการอะไร ทำไมทันทั่นถึงสนุกกับการแหย่คนอื่น ทำไมชอบบงการคนอื่น ทั้งๆที่คนอื่นไม่สนุกด้วย แล้วคุณครูที่เห็นเหตุการณ์อยู่จะลงโทษในเชิงบวกอย่างไร ที่ทำให้ทันทั่นเปลี่ยนแปลง?
4.) ทันทั่นขี้โกหก
:
เด็กๆมักโกหกเพราะ “กลัวโดนลงโทษ” เช่น ทำของเสียหายแล้วบอกว่าไม่ได้ทำ แต่บางกรณี เด็กโกหกเพราะ “ต้องการสิ่งๆนั้น” เช่น ทันทั่นพูดว่า ไม่ได้ให้ไดโนเสาร์ไป ก็เพราะต้องการไดโนเสาร์กลับคืนมา ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาการโกหกของเด็กๆ ก็ต้องแก้ทั้งสาเหตุที่ทำให้ลูกโกหก รวมทั้งจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
...
เมื่อการโกหกส่งผลร้ายต่อทันทั่นเอง เพื่อนก็ไม่เชื่อ คนเล่นด้วยก็ไม่มี ทันทั่นจะทำอย่างไร เมื่อคุณครูทราบเรื่องและยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ครูทำอย่างไรทันทั่นถึงกล้าสารภาพกับคุณครู รวมทั้งยังสารภาพว่า โกหกคุณแม่ด้วย เมื่อคุณครูและคุณแม่ทราบ ทันทั่นจะถูกลงโทษอย่างไร??
5.) ทันทั่นไม่ใช่เด็กดื้อ
:
“เด็กดื้อ” เป็นคำนิยามพฤติกรรมต่อต้านไม่เชื่อฟังที่มีผลกระทบต่อตัวตน(self esteem)เด็กมาก ทำให้เด็กไม่รู้สึกถึงศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง หากเราอยากให้ลูกเปลี่ยนแปลง ควรตำหนิเฉพาะพฤติกรรมที่เป็นปัญหานั้น เพื่อความชัดเจนในการแก้ไข เช่น “ทันทั่นส่งเสียงดัง รบกวนคนอื่นแบบนี้ไม่ดีเลยครับ เพื่อนๆจะไม่ได้ยินเสียงคุณครู” เมื่อตำหนิพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้วก็ควรสอนต่อด้วยว่า ควรแก้ปัญหาอย่างไร เช่น “ทันทั่นอยากเล่นรถบรื๋นๆเสียงดังแบบนี้ ต้องเล่นตอนเวลาพัก” หรือ กระตุ้นให้ลูกคิดแก้ปัญหาเองก็ได้ เช่น “ทันทั่นคิดว่าเล่นรถดังๆแบบนี้ น่าจะเล่นที่ไหน?”
...
ทันทั่นไม่สนใจร่วมกิจกรรมในห้องเรียน แถมยังรบกวนเพื่อนๆด้วย ที่สนามเด็กเล่น ทันทั่นก็ยังคงยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เอาแต่ใจ ไม่รับผิด โทษคนอื่น จนเพื่อนๆเบื่อหน่าย ต่อว่าทันทั่นว่า “เด็กดื้อ” ทันทั่นโกรธมาก จนคุณครูต้องเข้ามาช่วยเหลือ สร้างพลังบวกและดึงศักยภาพที่อยู่ในตัวทันทั่นออกมา ครูทำอย่างไร? ที่จะทำให้ทันทั่นเชื่อมั่นอีกครั้งว่า ตนเองก็เป็นเด็กดี และเปลี่ยนแปลงได้
* ใน 1 ชุดจะมี 5 เล่ม จำนวน 40 หน้า/เล่ม